รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-05303


ชื่อวิทยาศาสตร์

Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr

สกุล

Sandoricum Cav.

สปีชีส์

koetjape

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Azedarach edule Noronha

Melia koetjape Burm.f.

Sandoricum indicum Cav.

Sandoricum maingayi Hiern

Sandoricum nervosum Blume

ชื่อไทย
กระท้อน
ชื่อท้องถิ่น
มะต้อง มะตื๋น (ภาคเหนือ)/ กระท้อน (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ
Sentul/ Santol/ Red Sentol/ Yellow sentol
ชื่อวงศ์
MELIACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 10-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปไข่ ลำต้นมักเป็นพูพอน เปลือกลำต้น ชั้นนอกเป็นสีน้ำตาลออกชมพู เปลือกในสีชมพู

ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ แผ่นใบเป็นรูปไข่ รูปรี สีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีแดง ความกว้าง 6-15 ซม. ยาว 8-15 ซม. โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม หลังใบเป็นคลื่น มีนวลปกคลุม ท้องใบมีเส้นใบนูนเห็นได้ชัด ขอบใบเรียบเป็นคลื่น

ดอก ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม ยาว 10-15 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนหนาด้านนอก กลีบดอกมีสีเหลืองแกมเขียว กลีบบานแยกแผ่ออก จำนวน 5 กลีบ ยาว 1 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อันเชื่อมติดกัน เป็นหลอด

 ผล ผลสดรูปกลม อาจมีจุกผลที่ขั้วหรือไม่มีก็ได้ เมื่อสุกมีสีเหลือง ผิวมีขนแบบกำมะหยี่ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว  

เมล็ด มี 2-5 เมล็ด รูปกลมรี มีเยื้อหุ้มที่เกิดจากเปลือกหุ้มเมล็ด

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

ป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย ชอบดินร่วนซุย ร่วนปนทราย แดดจัด

ถิ่นกำเนิด

เขตร้อนแถบมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียและไทย

การกระจายพันธุ์

ในอินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย พม่า และไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด

ตอนกิ่ง

ระยะเวลาการติดดอก
มกราคม-มีนาคม
ระยะเวลาการติดผล
มีนาคม-พฤษภาคม
ประเภทการใช้ประโยชน์
อาหาร,สมุนไพร,พืชใช้เนื้อไม้

เปลือกต้น มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด รักษาโรคผิวหนัง แก้ท้องเสีย

เปลือกผล มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด เป็นยาสมาน

ใบ มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด ใช้ต้มอาบแก้ไข้ ใช้ขับเหงื่อ

ราก มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิด มูกเลือด ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด

ปรับปรุงเป็นไม้ผลหลายพันธุ์ เนื่องจากเนื้อมีรสหวาน ผลใหญ่รับประทาสดหรือยังนำมาทำอาหารคาวหวาน

รากนำมาตำใส่น้ำและน้ำส้มสายชูดื่ม ช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้บิด ช่วยขับลม

เปลือกต้น นำมาต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง หรือดื่มแก้พิษงู แก้ท้องเสีย ใบแก้ไข้

ผล แก้บวมและขับพยาธิ

เนื้อไม้ แข็งและมีคุณภาพดี จึงใช้สร้างบ้านหรือทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

หมายเหตุ

กระท้อนที่ปลูกในเมืองไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

            1. กระท้อนพันธุ์พื้นเมือง หรือกระท้อนป่าพบอยู่ตามป่าทั่วทุกภาค ต้นสูงใหญ่ แข็งแรง ทนทาน แต่มีผลขนาดเล็ก กลมแป้น รสเปรี้ยวจัด หรือเปรี้ยวอมหวาน และเนื้อบาง จึงไม่นิยมนำมาบริโภค แต่นิยมนำเนื้อไม้ที่มีลายสวยงามทำเฟอร์นิเจอร์ บางก็นำเมล็ดมาเพาะเพื่อใช้ทำต้นตอเสียบยอดหรือทาบกิ่ง

            2. กระท้อนหวาน กลายพันธุ์มาจากกระท้อนพันธุ์พื้นเมือง โดยมีการนำเมล็ดจากต้นเก่ามาเพาะซึ่งต้นที่ได้มักกลายพันธุ์ไปจากต้นเดิม จึงมีการคัดเลือกต้นที่มีรสชาติดี แล้วนำไปเพาะเมล็ดใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งได้ต้นที่ให้ผลใหญ่ รสอร่อย มีกลิ่นหอมกว่าพันธุ์พื้นเมือง ส่วนมากชาวสวนจะนำใบตองหรือถุงกระดาษมาห่อผลที่ยังอ่อนเพื่อป้องกันแมลง บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “กระท้อนห่อ” ซึ่งมีหลายพันธุ์ และบางพันธุ์คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น พันธุ์ไหว พันธุ์ตาอยู่ ส่วนพันธุ์ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันได้แก่

พันธุ์ทับทิม

            เดิมปลูกแถบฝั่งธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 มีผู้นำมาปลูกที่จังหวัดนนทบุรี แต่ถูกน้ำท่วมตายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังคงมีเหลืออยู่บ้าง นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว และให้ผลดก แต่ผลค่อนข้างเล็ก มีน้ำหนักประมาณ 200 กรัมต่อผล ผลกลมแป้น เนื้อบางนิ่ม ปุยหนา มีปุยแทรกเนื้อ รสหวานอมเปรี้ยว ให้ผลดกและแก่เร็ว ประมาณเดือนพฤษภาคมสามารถเก็บผลได้ แต่มีข้อเสียคือ ถ้าผลแก่แล้วยังไม่เก็บผลจะแตกง่าย และถ้าฝนตกชุกจะทำให้ไส้แดง

พันธุ์ทับทิมทอง

            ผลกลมหรือกลมสูง มีน้ำหนัก 400-800 กรัมต่อผล ขั้วสั้น ผิวสีเหลืองทอง ขรุขระเล็กน้อย โดยเฉพาะด้านขั้นผล ส่วนก้นผลเรียบ เนื้อหนาแน่นมีปุยแทรกเนื้อ รสหวานอมเปรี้ยว และฝาดเล็กน้อย ปุยหุ้มเมล็ดฟู รสหวาน เมล็ดใหญ่ เป็นพันธุ์เบาสามารถเก็บผลได้ในเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกัน

            พันธุ์เทพรส

            ผลกลมสูงเล็กน้อย มีน้ำหนัก 250-500 กรัมต่อผล ขั้วสั้น ผิวเรียบ มีขนอ่อนนุ่มมือ สีน้ำตาลเข้ม สันด้านข้างบริเวณพูของเมล็ดนูนชัดเจนกว่าพันธุ์อื่น เนื้อหนานุ่ม มีปุยแทรกเนื้อ รสหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเมล็ดรสหวานจัด เมล็ดใหญ่ เก็บผลได้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

            พันธุ์นิ่มนวล

            กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ทับทิม เดิมชื่อพันธุ์ “เมล็ดในทับทิม” ผลกลม ขนาดปานกลาง มีน้ำหนัก 300-600 กรัมต่อผล มีขั้นสั้น ผิวเรียบ สีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง เนื้อหนานิ่มกว่าพันธุ์ทับทิม จึงตั้งชื่อใหม่ว่าพันธุ์นิ่มนวล ปุยแทรกเนื้อ รสหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัด เมล็ดไม่ใหญ่นัก เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก แต่เป็นพันธุ์หนัก สามารถเก็บผลได้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

            พันธุ์ปุยฝ้าย

            คาดว่ากลายพันธุ์มาจากพันธุ์ทองหยิบ เพราะมีลักษณะคล้ายกัน ผลค่อนข้างใหญ่ มีน้ำหนัก 400-800 กรัมต่อผล ขั้วผลสั้น ผลมีขนนุ่มปกคลุม ผิวสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง ผลด้านใกล้กับขั้วจะนูนขึ้นหรือขรุขระเล็กน้อย ก้นผลเรียบ เนื้อหนานุ่ม มีปุยแทรกเนื้อจนถึงเปลือก รสหวานอมเปรี้ยว ไม่ฝาด ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัด เมล็ดโตแบน เก็บผลได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมเช่นกัน

            พันธุ์อีล่า

            พบโดยนายกุล แย้มแพ ซึ่งนำเมล็ดมาปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2471 ลักษณะผลมีคุณภาพดีกว่าต้นเดิม แต่เก็บผลได้ช้ากว่าพันธุ์อื่น จึงเรียกว่า “อีล่า” ลักษณะเด่นคือ ใบใหญ่และผลใหญ่กว่าพันธุ์อื่น ขั้วผลใหญ่ ผลดอกมาก ติดผลง่าย ร่วงยาก ปุยหนา รสหวานจัดและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกในเดือนกุมภาพันธุ์ เก็บผลได้ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน และเป็นพันธุ์ที่ขายได้ราคากว่าพันธุ์อื่นๆ

แหล่งอ้างอิง

คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ) จำกัด.กรุงเทพมหานคร.

มูลนิธิสวนหลวง ร. ๙. 2547. ไม้นามตามถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.กรุงเทพมหานคร.

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2555. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัย   ราชภัฏเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ ดอคคิวเมนทารี ดีไซด์ จำกัด. เชียงใหม่. 315 น.

สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระท้อน.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=1158&view=showone&Itemid=59 (17 ตุลาคม 2559)

อุไร จิรมงคลการ. 2547. ผลไม้ในสวน. Fruits. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร.

The Plant List. 2013. “Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-2601089 (1 สิงหาคม 2560)

 

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้