รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-00009


ชื่อวิทยาศาสตร์

Acacia concinna (Willd.) DC.

สกุล

Acacia Mill.

สปีชีส์

concinna

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Acacia concinna var. rugata (Benth.) Baker

Acacia hooperiana Miq.

Acacia poilanei Gagnep.

Acacia polycephala DC.

Acacia quisumbingii Merr.

ชื่อไทย
ส้มป่อย
ชื่อท้องถิ่น
ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ
-
ชื่อวงศ์
FABACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้รอเลื้อย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูง 3-6 ม. เถามีเนื้อแข็ง มีหนามตามลำต้น กิ่ง ก้าน และใบ มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม เปลือกลำต้นสีน้ำตาล

ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเสียงสลับกัน ช่อใบย่อย 5-10 คู่ ใบย่อย 10-30 คู่ต่อช่อใบย่อย เรียงตรงข้าม ก้านใบยาว 3.6-5.0 ซม. มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนก้านใบ แกนกลางยาว 6.6-8.5 ซม.ใบย่อยรูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อนโค้ง โคนใบตัด ไม่มีก้านใบย่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียว

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแน่นรูปทรงกลมที่ซอกใบและปลายกิ่ง 1-3 ช่อดอกต่อข้อ ขนาด 0.7-1.3 ซม. มี 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2.5-3.2 มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ใบประดับดอก 1 อัน รูปแถบ ยาวไม่เกิน 1 มม. โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายทั่วไป ดอกขนาดเล็กอัดแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอด สีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม.ยาว 2.5-3.0 ซม. ปลายแหลม สีแดง อาจมีสีขาวปนเล็กน้อย กลีบดอก หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 3.5-4.0 มม. มีขนเล็กน้อยที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ 200-250 อัน ยาว 4-6 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่ยาว 1 มม. มี 10-12 ออวุล มีก้านรังไข่ยาว 1 มม. ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 2.5-3.5 มม. สีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง

ผล เป็นฝักสีน้ำตาลดำ ยาว 4-12 ซม. ลักษณะผิวขรุขระเมื่อแห้ง ขอบฝักเป็นคลื่น  ปลายฝักแหลม สันฝักหนา เปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ภายในมีเมล็ดเรียงกันอยู่

เมล็ด เมล็ดรูปรีถึงรูปวงกลมแบน

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง,ร่มรำไร
สภาพนิเวศวิทยา

พบตามป่าคืนสภาพ ป่าเบญจพรรณ และที่รกร้างทั่วไป

ถิ่นกำเนิด

อินเดีย พม่า มาเลเซีย ไทย

การกระจายพันธุ์

 

เอเชียตะวันออก - ตอนใต้ของจีน อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี

การปลูกและการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด

ระยะเวลาการติดดอก
มกราคม-พฤษภาคม
ระยะเวลาการติดผล
พฤษภาคม-ตุลาคม
ประเภทการใช้ประโยชน์
อาหาร,สมุนไพร

ฝัก รสเปรี้ยว มีสารซาโปนินสูง ตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทน ฝักแก่ใช้ต้มเอาน้ำสระผมช่วยขจัดรังแค บำรุงผม เป็นยาปลูกผมและกำจัดรังแค ต้มอาบน้ำหลังคลอด ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง ฝักปิ้งให้เหลือง ชงน้ำจิบเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ทำให้อาเจียน ต้มหรือบดกินเป็นยาถ่าย

เปลือกฝัก รสขมเปรี้ยว เผ็ดปร่า ช่วยเจริญอาหาร กัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก ต้น รสเปรี้ยวฝาด เป็นยาระบาย แก้โรคตาแดง แก้น้ำตาพิการ

ลำต้น เป็นยาระบาย

ใบ รสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ต้มดื่ม ขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต แก้บิด ชำระเมือกมันในลำไส้ แก้โรคตา ตำประคบให้เส้นเอ็นหย่อน

ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยว รับประทานเป็นผักสด นำมาปรุงอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้

ใบและฝัก ต้มอาบ ทำความสะอาด บำรุงผิว

ยอดอ่อน นำมาต้มน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ หรือนำมาตำรวมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น นำไปพอกแก้ฝี

ดอก รสเปรี้ยว ฝาด มัน แก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์

ราก รสขม แก้ไข้

หมายเหตุ

-

แหล่งอ้างอิง

คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 464 น.

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2553. “ส้มป่อย.” [ระบบออนไลน์]. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=285 (29 ตุลาคม 2559)

มูลนิธิสวนหลวง ร.9. 2542. พรรณไม้ในสวนหลวง ร.9. เล่ม 2 พิมพ์ครั้งที่ 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร.139 น.

เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล. 2552. ร้อยพรรณไม้เลื้อยแสนสวย. เศรษฐศิลป์. กรุงเทพมหานครฯ. 240 น.

The Plant List. 2013. “Acacia concinna (Willd.) DC.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/ild-32490 (29 ตุลาคม 2559)

Useful Tropical Plants. 2017. “Acacia concinna.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Acacia+concinna (29 ตุลาคม 2559)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้