รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-02019


ชื่อวิทยาศาสตร์

Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don

สกุล

Dipterocarpus C.F.Gaertn.

สปีชีส์

alatus

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Dipterocarpus gonopterus Turcz.

Dipterocarpus incanus Roxb.

Dipterocarpus philippinensis Foxw.

ชื่อไทย
ยางนา
ชื่อท้องถิ่น
ยาง ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (ภาคเหนือ)/ ยางกุง (เลย)/ ยางควาย (หนองคาย)/ ยางตัง ชันนา (ชุมพร)/ ยางใต้ ยางเนิน (จันทบุรี)/ กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี)/ ขะยาง (นครราชสีมา)/ จะเตียล (เขมร)/ จ้อง (กะเหรี่ยง)/ ทองหลัก (ละว้า)/ ราลอย (สุรินทร์ )/ ลอย (นครพนม)
ชื่อสามัญ
Yang/ Gurjan or Garjan/ Keruing
ชื่อวงศ์
DIPTEROCARPACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น สูงได้ถึง 40 ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาปนขาว หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลมๆ โคนต้นมักเป็นพูสูงขึ้นมาเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน และมีรอยแผลใบเห็นชัด

ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-35 ซม. ยาว 20-35 ซม. ใบมีขนปกคลุม ใบด้านท้องใบมีขนรูปดาวสั้นๆ เนื้อใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน โคนใบมนกว้าง ปลายใบสอบทู่ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-4 ซม. มีขนประปราย มีหูใบขนาดใหญ่

ดอก ออกเป็นช่อสั้น แบบช่อกระจะ ตามซอกใบปลายกิ่ง ช่อห้อยยาวถึง 12 ซม. ดอกขนาด 4 ซม. สีชมพูอ่อน ช่อละ 4-5 ดอก ก้านช่อมีขน ชั้นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีแฉกยาว 2 แฉก และสั้น 3 แฉก มีขนสั้นสีน้ำตาลปกคลุม กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบชิดกัน กลีบดอกรูปขอบขนาน ส่วนปลายกลีบมนและบิดเวียน เกสรเพศผู้มากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์รูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียอ้วน และมีร่อง

ผล เป็นผลแห้งรูปกระสวย มีครีบตามยาว 5 ครีบ มีปีกขนาดใหญ่ 2 อัน ที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง สีแดงอมชมพู กว้าง 2.0-2.5 ซม. ยาว 11-15 ซม. เมื่อสุกสีน้ำตาล เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น มีปีกสั้น 3 ปีก ยาวประมาณ 1 ซม. ส่วนกลางผล มีครีบตามยาว 5 ครีบ เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.2-2.8 ซม.

เมล็ด มี 1 เมล็ดต่อผล เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม ปลายมีติ่งแหลม

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบในที่ลุ่มต่ำริมห้วย ลำธาร ในป่าดิบแล้ง และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่ระดับความสูง 50-400 ม. จากระดับทะเลปานกลาง

ถิ่นกำเนิด

หมู่เกาะอันดามัน บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย ลาว มาลายา พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม

การกระจายพันธุ์

เอเชียเขตร้อน

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ระยะเวลาการติดดอก
มีนาคม-เมษายน
ระยะเวลาการติดผล
พฤษภาคม-กรกฎาคม
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชให้ร่มเงา

น้ำต้มเปลือก กินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต และใช้ทาถูนวด (ขณะร้อนๆ) แก้ปวดตามข้อ

น้ำมันยาง รสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน ใช้ยาเครื่องจักสาน ทาไม้ อุดเรือรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือทำไต้ น้ำมันยางผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Roxb.) คั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาว จิบเป็นยาขับเสมหะ

หมายเหตุ

-

แหล่งอ้างอิง

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2553. “ยางนา.” [ระบบออนไลน์]. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=274 (12 ตุลาคม 2559)

วนานันทอุทยาน. 2557. “ยางนา.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://office.csc.ku.ac.th/woodland/index.php/2013-11-18-06-36-8/134-2014-02-17-07-32-25
(12 ตุลาคม 2559)

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. 2541. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์. กรุงเทพมหานคร.

The Plant List. 2013. “Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-2772115 (21 กันยายน 2560)

The Royal Botanic Gardens, Kew science. “Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:320626-1 (20 ตุลาคม 2560)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้