รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-02686


ชื่อวิทยาศาสตร์

Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem.

สกุล

Hesperethusa M.Roem.

สปีชีส์

crenulata

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Limonia crenulata Roxb.

ชื่อไทย
ทานาคา
ชื่อท้องถิ่น
กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ)/ ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)/ พญายา (ราชบุรี, ภาคกลาง)/ ตะนาว (มอญ)/ พินิยา (เขมร)
ชื่อสามัญ
-
ชื่อวงศ์
RUTACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น สูง 8-15 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านต่ำตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีขาว เปลือกลำต้นสีน้ำตาลขรุขระ มีหนามแข็งและยาว ออกแบบเดี่ยวหรือเป็นคู่ตรง ยาวได้ถึง 2.5 ซม. เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่จะเป็นสีขาว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน หากทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน

ใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ มีใบย่อย 4-13 ใบ รูปรีแกมรูปไข่กลับ โคนใบและปลายใบสอบแคบ ขอบใบจักฟันเลื่อย กว้าง 1.5-3.0 ซม. ยาว 2-7 ซม. ผิวเกลี้ยง มีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป ก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 ซม. ก้านใบแผ่เป็นปีกสองข้าง ไม่มีก้านใบย่อย

ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจะ ตามซอกใบ ดอกมีขนสั้นนุ่ม สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี กว้าง 3 มม. ยาว 7 มม. ผิวเกลี้ยงมีต่อมน้ำมันอยู่ประปราย มีเกสรเพศผู้ 8 อัน ยาว 4-6 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาว 1.5 มม. ปลายแหลม ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดและมีต่อมน้ำมัน

ผล สด รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.0 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ

เมล็ด มี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลอมส้มอ่อน รูปเกือบกลม กว้าง 5 มม.

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 100-400 ม.

ถิ่นกำเนิด

พม่า

การกระจายพันธุ์

ภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มณฑลยูนนานของจีน และในภูมิภาคอินโดจีน

การปลูกและการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด การปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือราก

ระยะเวลาการติดดอก
มีนาคม-พฤษภาคม
ระยะเวลาการติดผล
พฤษภาคม-ตุลาคม
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร

ราก มีรสขมเย็น ช่วยรักษาโรคในลำไส้ แก้อาการปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่และบริเวณลิ้นปี่ ใช้เป็นยาถ่าย เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับเหงื่อ แก้อาการผอมแห้ง

เปลือกต้น ช่วยทำให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อนในร่างกาย ขับผายลม แก้ไข้ ถอนพิษไข้

ใบ ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก ช่วยในการคุมกำเนิด

ผล มีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และเป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แก้พิษ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ ผลสุกใช้เป็นยาสมานแผล

หมายเหตุ

ไม้ทานาคา มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่สูงมาก ที่เปลือกของไม้ทานาคา มีสาร OPC เช่นเดียวกับที่พบในเปลือกสนฝรั่งเศส และที่เนื้อในของไม้ทานาคามีสารCurcuminoid ที่มักพบในขมิ้นชันที่ประเทศไทย  ทำให้ทานาคามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะต่อต้านความเสื่อมของเซลล์และยังช่วยป้องกันการเกิดสิว ด้วยคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดผดผื่นคัน ลดการเกิดจุดด่างดำและฝ้า  มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน และยังช่วยป้องกันการทำลายผิวจากรังสียูวี
          สารสกัดทานาคา 100% ให้สารออกฤทธิ์ความเข้มข้นสูง ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้ผงทานาคาพอกผิวถึง100 เท่าผงทานาคา ที่ดีจะต้องมาจากไม้ทานาคาที่ตากแห้งตามธรรมชาติและนำมาบดเป็นผงให้ละเอียด โดยจะมีสรรพคุณในการชลอความชราของผิวได้ดีมาก ด้วยฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของทานาคา ที่มีประสิทธิภาพสูง และคงตัวได้ดี ไม่สลายไปเมื่อโดนออกซิเจน เหมือน วิตามิน C หรือ E โดยที่เปลือกทานาคาบดละเอียดจะมีลักษณะเป็นผงสีเหลืองนวล ใช้ผสมน้ำขัดหน้าและพอกไว้สักครู่จนแห้ง เป็นสมุนไพรรักษาสิวและความมันของใบหน้าได้เป็นอย่างดี

แหล่งอ้างอิง

Phargarden.com. 2553. “กระแจะ.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=6 (10 พฤษภาคม 2560)

SAARD-KM. 2015. “สรรพคุณของทานาคา หรือกระแจะจัน.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://km.saard.ac.th/external_newsblog.php?links=796 (10 พฤษภาคม 2560)

The Plant List. 2013. “Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/tro-501723754 (10 พฤษภาคม 2560)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้