รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-03629


ชื่อวิทยาศาสตร์

Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre

สกุล

Magnolia Plum. ex L.

สปีชีส์

champaca

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Michelia champaca L.

Magnolia membranacea P.Parm. 

Michelia blumei Steud.

Michelia champaca L.

ชื่อไทย
จำปา
ชื่อท้องถิ่น
จำปาเขา (ตรัง) / จำปาทอง(นครศรีธรรมราช,สุราษฎร์ธานี) / จำปาป่า(ตราด,สุราษฎร์ธานี)
ชื่อสามัญ
Chaempaka/ Orange chaempaka/ Sonchampa
ชื่อวงศ์
MAGNOLIACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-15 ม. ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นสีเทา มีร่องตื้นตามยาว

ใบ ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 5-10 ซม. โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ใบคล้ายกระดาษ เส้นใบมี 14-20 คู่ มีก้านใบยาว 1.5-3.0 ซม. ยอดอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทองหนาแน่น ใบแก่ผิวด้านบนเรียบ หลังใบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีเขียวอ่อน

ดอก เดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกบานตั้งขึ้น มีกลิ่นหอมแรง ดอกตูมเป็นรูปกรวย มีกาบหุ้มดอกสีเหลืองอ่อน มักจะร่วงก่อนดอกบาน กลีบดอกมีสีเหลืองหรือส้ม มีกลิ่นหอมแรง มีกลีบดอกรวม 10-15 กลับ มีกลีบสองชั้น กลีบชั้นนอกเป็นรูปหอกกลับ ขนาด กว้าง 1.0-1.6 ซม. ยาว 4.0-4.5 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 8-0 มม. เกสรเพศเมียยาว 1.5-2 ซม.

ผล ออกเป็นผลกลุ่ม ช่อผลห้อย ยาว 6-10 ซม. ผลย่อย มี 15-40 ผล ไม่มีก้านผลย่อย แต่ละผลค่อนข้างกลมหรือกลมรี ขนาด 1-2 ซม. เปลือกผลหนาและแข็ง ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศสีขาวเป็นจุดเด่นชัด เมื่อผลกแก่ เปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีเทา แตกตามร่องกลางผลในแนวตั้ง

เมล็ด แต่ละผลมีเมล็ดแก่สีแดง 1-6 เมล็ด รูปทรงกลมหรือกลมรี ยาว 0.8-1.0 ซม.

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบในป่าดงดิบที่ระดับทะเลปานกลาง 200-1000 ม. เจริญได้ดีในดินร่วน ไม่ชอบดินเหนียว ระบายน้ำได้ดี ชอบแดดจัด

ถิ่นกำเนิด

แถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และแถบประเทศอื่นในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน

การกระจายพันธุ์

อินเดีย พม่า เนปาล อินโดจีน และทางทิศตะวันตกถึงทิศใต้ของจีน

การปลูกและการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด และตอนกิ่ง

ระยะเวลาการติดดอก
ตลอดปี ดอกดกช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์
ระยะเวลาการติดผล
ตลอดปี มีมากในช่วงเดือน มิถุนายน-กันยายน
ประเภทการใช้ประโยชน์

ดอก ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ และขับปัสสาวะ

เปลือกต้น มีรสฝาดสมาน ใช้แก้ไข้

ใบ เป็นยาแก้โรคประสาท

ดอก ของจำปามีการจำหน่ายในปริมาณสูง เพื่อนำมาร้อยมาลัยและเพื่อใช้ผสมในตำรับยาไทยแผนโบราณใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขับลม ขับปัสสาวะ แก้โรคไต บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี แก้วิงเวียนศีรษะ

เปลือกต้น ฝากสมาน แก้ไข้

เปลือกราก เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนปกติ ขับพยาธิ

ใบ แก้โรคทางระบบประสาท

น้ำมันหอม ทำจากดอก ทาแก้ปวดศีรษะ แก้ตาอักเสบ บวมแก้โรคปวดข้อ

หมายเหตุ

ความแหลกหลายทางพันธุกรรมของจำปา

เนื่องจากจำปามีถิ่นกำเนิดเดิมกระจายกว้างขวางมากนับตั้งแต่อินเดีย พม่า ผ่านมาถึงไทย และไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ดจึงมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติออกไปตามลำดับ

            แต่อย่างไรก็ตาม ในการปลูกจำปาเป็นไม้ดอกไม้ประดับนั้น บรรพบุรุษของเราได้คัดเลือกต้นที่มีขนาดเล็ก ออกดอกดก ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีเข้มสวยงาม และมีกลิ่นหอม แล้วนำมาปลูกและขยายพันธุ์กันต่อๆมา โดยทั่วไปจึงพบแต่จำปาที่มีดอกสีเหลืองส้ม สีดังกล่าวทำให้เข้าใจกันและเรียกกันติดปากว่า สีจำปา

            สำหรับพันธุ์ของจำปาที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ก็มีเพียงสีของดอกที่มีสีเหลืองส้มน้อยลงนกระทั่งเป็นสีเหลืองอ่อน หรือเกือบจะเป็นสีขาว ที่เรียกกันว่า พันธุ์จำปาขาว ซึ่งมีแหล่งดั้งเดิมอยู่ที่วัดกลาง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สำหรับพันธุ์จำปาขาวจากต้นดั้งเดิมนี้ในช่วงที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อเทียบแล้วจะอ่อนกว่าจะปีสีนวลเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเป็นสีขาวเหมือนกับจำปี และในช่วงที่ดอกใกล้โรยนั้น กลีบดอกของจำปาขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเหมือนจำปาทั่วไป แต่กลิ่นหอมไม่เหมือนกลิ่นจำปา

            ในปัจจุบันมีการเพาะเมล็ดจำปาเพื่อใช้เป็นต้นตอสำหรับทาบกับชนิดอื่นๆ และพบว่ามีต้นกล้าบางต้นกลายพันธุ์ไป ใบมีขนาดใหญ่และหนาขึ้น มีกลีบดอกสีขาว กลีบบางเหมือนกับจำปีป่าแต่ไม่หนาเหมือนจำปีที่ปลูกทั่วไป

 

แหล่งอ้างอิง

คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงาน  มหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญ พาณิชย์(กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.

ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. 2554. “จำปา.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2502 (17 ตุลาคม 2559)

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2545. แมกโนเลียเมืองไทย. Thai Magnoliaceae. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน.กรุงเทพมหานคร.

วีณา เชิดบุญชาติ. 2543. ปลูกผักไทยได้ทั้งอาหารและยา. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร.

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2555. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ ดอคคิวเมนทารี ดีไซด์ จำกัด. เชียงใหม่. 315 น.

The Plant List. 2013. “Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-117504 (17 ตุลาคม 2559)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้