รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-04924


ชื่อวิทยาศาสตร์

Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.

สกุล

Pithecellobium Mart.

สปีชีส์

dulce

Variety

-

Sub Variety

-

Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Acacia obliquifolia M.Martens & Galeotti

Albizia dulcis (Roxb.) F.Muell.

Feuilleea dulcis (Roxb.) Kuntze

Inga camatchili Perr.

Inga dulcis (Roxb.) Willd.

 

ชื่อไทย
มะขามเทศ
ชื่อท้องถิ่น
มะขามข้อง (แพร่)
ชื่อสามัญ
Madras thorn/ Manila tamarind
ชื่อวงศ์
FABACEAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น สูงได้มากกว่า 10 ม. ไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก กิ่งเล็กค่อนข้างกลม ผิวเกลี้ยง

ใบ ใบประกอบ 2 ใบ และออกเป็นคู่ หูใบมีลักษณะเป็นหนามแหลม เป็นคู่ยาว 4-10 มม. แกนกลางของช่อใบยาว 1.0-2.5 ซม. ก้านช่อใบย่อยยาวได้ถึง 7.5 ซม. และที่ปลายซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างใบย่อย มีหูใบซึ่งมีลักษณะเป็นหนามสั้นๆ 1 อัน ใบย่อยซึ่งออกเป็นคู่หรือ 2 ใบเรียงตรงกันข้ามไม่มีก้าน ใบรูปไข่เบี้ยวหรือสองข้างไม่เท่ากัน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 1.5-3.5 ซม. ปลายโค้งแบบครึ่งวงกลมหรือโค้งมนเล็กน้อย หรือปลายแหลม โคนสอบแคบและโค้งมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ที่บริเวณข้อติดกับก้านใบ ช่อดอกยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-2 ซม. มีขนละเอียดปกคลุม ดอกย่อยสมบูรณ์เพศรวมเป็นกลุ่ม 15-20 ดอกในแต่ละช่อย่อย กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาว 3.5 มม. ก้านชูอับเรณูมีจำนวนมาก สีขาว

ผล เป็นฝักยาวและโค้งงอ แบนข้างเล็กน้อย กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 5-8 ซม.เปลือกหุ้มค่อนไปทางหนา ผิวเรียบ เมื่อแก่สีขาวถึงสีน้ำตาลอมแดง เนื้อในสีขาวค่อนข้างฝ้าม หุ้มเมล็ดเป็นปล้อง ๆ

เมล็ด เมล็ดรูปไข่รีค่อนไปทางแบน ขนาดโดยประมาณกว้าง 7 มม. ยาว 9 มม. หนา 2 มม. ผิวสีดำเป็นมันเลื่อม

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบได้ในป่าเบญจพรรณ พื้นที่สูง 0-800 ม. จากระดับทะเลปานกลาง

ถิ่นกำเนิด

อเมริกากลาง

การกระจายพันธุ์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกและการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง

ระยะเวลาการติดดอก
ระยะเวลาการติดผล
ประเภทการใช้ประโยชน์
อาหาร,สมุนไพร,พืชประดับ,พืชใช้เนื้อไม้,พืชให้ร่มเงา

ผล เนื้อในผลหรือฝักสด – บรรเทาอาการโรคเบาหวาน ลดอาการแสบแผล และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยให้กระปรี่กระเปร่า มีกำลังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท ช่วยเสริมสร้างการสร้าง และซ่อมแซมกระดูก

ทั้งต้น ต้มดื่มแก้อาการปวดท้อง

ใบ ตำพอกแก้อาการเจ็บปวดอันเกิดจากเพศสัมพันธ์ บรรเทาอาการอาเจียนกินกับเกลือแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หรือกินมากๆให้เกิดการแท้ง

ราก เป็นยาระงับเชื้อ ชำระล้างบาดแผล ใช้ภายในต้มดื่มแก้ท้องร่วง เป็นยากระชับโลหิตและน้ำเหลือง

เปลือกลำต้น ใช้ภายนอกต้มเป็นยาระงับเชื้อ ชำระล้างบาดแผล ห้ามโลหิต สมานแผล แก้บาดแผลติดเชื้อ ต้มเอาน้ำอมแก้ปวดฟัน โรคในปากในคอ ดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเสีย ขับพยาธิในท้อง ใช้ย้อมแห ใช้ย้อมหนัง หรือทำให้หนังอ่อนตัว

เมล็ด ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ช่วยให้อาเจียน

เนื้อไม้ เนื้อไม้ และกิ่งใช้ทำฟืนหุงหาอาหาร หรือนำมาเผาถ่าน เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากแก่นในของไม้มะขามเทศให้เนื้อสีน้ำตาลปนแดงถึงดำ ด้านข้างมีสีเลืองน้ำตาล เนื้อไม้เหนียว แข็ง และทนต่อหมอดปลวกได้ดี

หมายเหตุ

พันธ์ุมะขามเทศ

พันธุ์มะขามเทศแบ่งตามลักษณะฝัก
1. พันธ์ุฝักขนาดใหญ่
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝักประมาณ 15- 20 ฝัก ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม ถ้าฝักยาวฝักจะม้วนเป็นเกลียว เปลือกฝักแก่มีสีเขียวอ่อน หรือ ขาวปนสีแดง หรือขาวปนชมพู เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนาใหญ่ มีรสชาติหวานมัน ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่ง และลำต้นมีหนามยาว ใบมีขนาดใหญ่กว่าพันธ์ุอื่นๆ

2. พันธ์ุฝักขนาดกลาง
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝักประมาณ 20 – 30 ฝัก ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม เปลือกฝักแก่มีสีเขียวอ่อนปนชมพู เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนา มีรสชาติหวานมัน ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่ง และลำต้นมีหนามสั้น ใบมีขนาดเล็กกว่าพันธ์ุแรก

3. พันธ์ุพื้นเมือง
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝัก 30 ฝักขึ้นไป เปลือกของฝักแก่มีสีเขียวปนสีชมพูกึ่งแดง ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนาเล็กน้อย เนื้อมีรสหวานมันปนฝาดถึงฝาดมาก ลำต้นมีทรงพุ่มใม่ใหญ่ แต่มีหนามตามลำต้น และกิ่งมาก ใบมีขนาดค่อนข้างเล็ก ใบกลมรี ปลายใบมน

พันธุ์มะขามเทศแบ่งตามรสของฝัก
1. พันธุ์ฝักหวาน
ฝักมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ เปลือกฝักแก่มีสีเขียวปนชมพู มีเนื้อหุ้มเมล็ดหนา สีขาวอมชมพู ให้รสหวานมัน

2. พันธุ์ฝักฝาด
ฝักมีขนาดเล็ก เปลือกฝักแก่มีสีเขียวปนชมพู มีเนื้อหุ้มเมล็ดเล็กบาง เนื้อมีสีขาวอมชมพูปนแดง ให้รสฝาดปนหวานเล็กน้อย หรือให้รสฝาดเพียงอย่างเดียว

แหล่งอ้างอิง

มูลนิธิโครงการหลวง. 2552. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 720น.

Puechkaset. 2013. “มะขามเทศ สรรพคุณ และการปลูกมะขามเทศ.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://puechkaset.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/ (2 สิงหาคม 2560)

The Plant List. 2013. “Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/ild-243 (2 สิงหาคม 2560)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้