รายละเอียดพรรณไม้ : RPRP-06351


ชื่อวิทยาศาสตร์

Erythrina variegata L.

สกุล
Erythrina
สปีชีส์
Erythrina variegata
Variety
-
Sub Variety
-
Form
-
ชื่อพ้อง / ชื่อดั้งเดิม

Erythrina alba Cogniaux & Marchal

Erythrina indica var. alba W. S. Millard & E. Blatter

Erythrina marmorata Veitch ex Planchon

Gelala alba Rumphius

ชื่อไทย
ทองหลางลาย
ชื่อท้องถิ่น
ทองบ้าน ทองเผือก (ภาคเหนือ), ทองหลางด่าง (กรุงเทพฯ)
ชื่อสามัญ
Indian coral tree, Variegated coral tree, Variegated tiger’s claw, Tiger claw
ชื่อวงศ์
LEGUMINOSAE
ลักษณะวิสัย
ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 25 ม. เรือนยอดทรงกลมทึบ ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามากบริเวณเรือนยอด เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีลักษณะเป็นร่องแตกตามแนวยาว ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นสีดำอยู่ประปราย เนื้อไม้เปราะ

ใบ ใบประกอบแบบขนนกมี 3 ใบย่อย ออกเรียงสลับ ก้านช่อใบยาว 2-28 ซม. ก้านใบสั้น ใบเป็นรูปสามเหลี่ยมมน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบที่อยู่ปลายสุดจะมีขนาดใหญ่กว่าใบคู่ล่าง ใบอ่อนมีขนประปราย ใบแก่ผิวเกลี้ยงหลังใบสีเขียวมีลายสีเหลืองตามแนวเส้นใบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง มีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านช่อดอกยาว 5-25 ซม. ดอกสีแดงสด กลีบดอกเรียงตัวแบบดอกถั่ว กลีบดอกยาว 2-4 ซม. ดอกบานเต็มที่กว้าง 7-8 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้สีแดงอ่อน ยาว 5-7 ซม. เชื่อมติดกันที่โคน

ผล เป็นฝักแบน กว้าง 2-3 ซม. ยาว 10-45 ซม. ออกเป็นพวงๆ โคนฝักเล็กลีบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายฝักจะบวม เห็นเป็นสันของเมล็ดได้ชัด เมื่อฝักแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มปลายฝักจะแตก และอ้าออก

เมล็ด รูปไข่หรือคล้ายไต มีเมล็ดประมาณ 1-8 เมล็ด ขนาดกว้าง 5-12 มม. ยาว 6-20 มม. ผิวเรียบเป็นมัน เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมแดง

สภาพนิเวศ
กลางแจ้ง
สภาพนิเวศวิทยา

พบได้ในป่าพื้นล่างใกล้ชายทะเล ไปจนกระทั่งถึงป่าดิบเขาสูง 1,200 ม. เหนือระดับทะเลปานกลาง

ถิ่นกำเนิด

ประเทศแทนซาเนีย จีน ไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซีย

การกระจายพันธุ์

พบกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จรดหมู่เกาะแปซิฟิกถึงออสเตรเลีย และตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก

การปลูกและการขยายพันธุ์

ปลูกได้ในสภาพดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย กลางแจ้ง โตเร็ว ทนลมและทนแล้ง เหมาะจะปลูกริมทะเลหรือที่แห้งแล้ว ถ้าอยู่ในที่แล้งจะทิ้งใบหมดต้น กิ่งค่อนข้างเปราะ

การขยายพันธุ์ทำได้ทั้ง เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง วัสดุชำต้องชื้นแฉะ

ระยะเวลาการติดดอก
มกราคม-กุมภาพันธุ์
ระยะเวลาการติดผล
-
ประเภทการใช้ประโยชน์
สมุนไพร,พืชประดับ,พืชให้ร่มเงา

เปลือกต้น นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยขับลมชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ แก้ไข้ แก้ปวดฟัน แก้บิด ขับพยาธิ แก้โรคตับ แก้กลากเกลื้อนผดผื่นคัน โรคผิวหนัง ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้ปวดข้อ ลดไข้

ใบ นำมาต้มน้ำดื่ม แก้ลมพิษ แก้ตาแดง ตาแฉะ และฝ้าฟาง ดับพิษร้อน ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร แก้ไข้ ขับเสมหะ ช่วยแก้อาเจียน แก้ปวดฟัน แก้โรคบิด ปวดท้อง ขับพยาธิ ขับระดูของสตรี รักษาผิวหนังเป็นน้ำเหลือง

ราก เป็นยาเย็นมีรสเอียน แก้พยาธิในท้อง แก้ตาฟาง แก้เสมหะ แก้ไข้หวัด พอกบาดแผลปวดแสบปวดร้อน และแก้ลม เปลือกราก นำมาต้มน้ำดื่ม เป็นยากระตุ้นหัวใจ กระตุ้นไขสันหลัง ช่วยทำให้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงเพิ่มขึ้น รักษาอาการไอเกร็ง เป็นยาแก้ขั้วปอดอักเสบ

ดอก ใช้เป็นยาขับระดู

เมล็ด นำมาต้มน้ำดื่ม รักษามะเร็ง ขับระดูของสตรี ตำเมล็ดพอกแก้พิษงู รักษาฝี

หมายเหตุ

-

แหล่งอ้างอิง

มูลนิธิโครงการหลวง 2552. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 808 น.

วชิรพงศ์ หวลบุตตา. 2542. ไม้ต้นประดับ เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร.

วีณา เชิดบุญชาติ. 2543. ปลูกผักไทยได้ทั้งอาหารและยา. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร.

เอื้อมพร วีสมหมาย และปณิธาน แก้วดวงเทียน. 2552. ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด. กรุงเทพมหานคร.

ThaiHerbal.org. 2014. “ทองบ้าน.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://thaiherbal.org/2285 (19 ตุลาคม 2559)

The Plant List. 2013. “Erythrina variegata L.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/ild-2735 (7 สิงหาคม 2560)

แหล่งอ้างอิงการจำแนก

-

แหล่งอ้างอิงการใช้ประโยชน์

-

สถานะของข้อมูลพรรณไม้
แบบร่าง
รายการรูปภาพ

กลับหน้ารายการพรรณไม้ แก้ไขข้อมูล จัดการรูปภาพ พิมพ์ QR Code ของพืชนี้ ลบข้อมูลพรรณไม้นี้